งานสนับสนุนวิชาการ

ประวัติความเป็นมา
สถาบันการบินพลเรือน (Civil Aviation Training Center)
         สถาบันการบินพลเรือน จัดตั้งขึ้นในลักษณะของโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนพิเศษสหประชาชาติ (United Nations Special Fund :UNSF) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ภายใต้ชื่อ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2504-2508) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากิจการบินพลเรือนระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เจริญ รุดหน้าทันกับเทคโนโลยีตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดไว้ในภาคผนวกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
        ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลไทยได้รับมอบศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยมาดำเนินการ โดยให้มีฐานะเป็นสถานฝึกอบรมอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการบินพาณิชย์ (ปัจจุบันคือกรมขนส่งทางอากาศ) กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2509 และในปี พ.ศ. 2530 รัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการบินพาณิชย์ใหม่ โดยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย (มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกอง) ในกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เพื่อให้การปฎิบัติราชการเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพงานในขณะนั้น

         ด้วยความสำคัญของการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการพัฒนาประเทศชาติโดยรวม และเพื่อให้การบริหารงานของภาครัฐมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตรา พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ.2535 แปรสภาพ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย เป็น สถาบันการบินพลเรือน รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม (http://www.catc.or.th/)

         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับสถาบันการบินพลเรือนเข้าเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533 (เอกสารแนบหมายเลข 1) และได้มีคำสั่งที่ 333/2540 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2540 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารับสถาบันการบินพลเรือนเข้าเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเพื่อทำหน้าที่ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ และข้อเสนอแนะการดำเนินการพิจารณารับสถาบันการบินพลเรือน เข้าเป็นสถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (เอกสารแนบหมายเลข 2)

         มหาวิทยาลัยมีประกาศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2540 รับสถาบันการบินพลเรือนเป็นสถาบันสมทบตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป (เอกสารแนบหมายเลข 4) โดยมีข้อบังคับว่าด้วย การรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2540 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2540 (เอกสารแนบหมายเลข 3) และข้อบังคับว่าด้วย การควบคุมมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2540 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2540 (เอกสารแนบหมายเลข 5) ควบคุมการรับสถาบันการบินพลเรือนเป็นสถาบันสมทบ และแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการบินพลเรือน ตามข้อบังคับว่าด้วย การควบคุมมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2540 ข้อ 5. ให้มีคณะกรรมการ ประกอบด้วยอธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งอธิการบดีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 14 คน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจำนวน 10 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้แทนจากสภาวิชาการ 2 คน และคณะกรรมการจากสถาบันการบินพลเรือนจำนวน 5 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน (เอกสารแนบหมายเลข 6)


         สถาบันการบินพลเรือนได้เสนอหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนสมทบกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ดังนี้
         1. ระดับปริญญาตรี 3 หลักสูตร
                1.1 หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบิน (4 ปี) วิชาเอกหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของหลักสูตร
                        1) การจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management)
                        2) การจัดการท่าอากาศยาน (Airport Management)
                        3) การจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo Management)
                1.2 หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบิน (ต่อเนื่อง) วิชาเอกหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของหลักสูตร                         1) การจัดการท่าอากาศยาน (Airport Management)
                        2) การจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo Management)
                1.3 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน
         2. ระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบิน